เดินหน้าสร้างบันทึกความเข้าใจร่วมกัน สะท้อนโอกาสการลงทุนด้านการท่องเที่ยว

ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศซาอุดีอาระเบีย

กรุงเทพฯ 13 พฤศจิกายน 2567 : กลุ่มดุสิตธานี ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกับกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia’s Tourism Development Fund – TDF) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวระดับประเทศ เพื่อกำหนดกรอบเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาโครงการด้านการบริการที่จะเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของซาอุดีอาระเบียในอนาคต

สำหรับบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าวได้ลงนามที่งาน World Travel Market 2024 ในกรุงลอนดอน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มดุสิตธานีต่อการขยายธุรกิจในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศซาอุดีอาระเบียที่ต้องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาโรงแรมและรีสอร์ทสุดหรูทั่วราชอาณาจักร

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยว่า กลุ่มดุสิตธานี รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการนำแบรนด์โรงแรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ผสมผสานความเป็นไทยไปยังเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งนี้ ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นเป้าหมายหลักสำหรับการเติบโตของดุสิตธานี เช่นเดียวกับการเป็นพันธมิตรร่วมกับกองทุนฯ ที่จะมอบโอกาสอันล้ำค่าในการเชื่อมต่อกับการลงทุนที่มีศักยภาพสูงทั่วประเทศ โดยกลุ่มดุสิตธานีมุ่งหวังที่จะมีส่วนสนับสนุนกลยุทธ์การท่องเที่ยวระดับชาติของซาอุดีอาระเบีย และมอบประสบการณ์โรงแรมที่มีคุณค่าและยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

จากการเปิดเผยข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติ พบว่า ซาอุดีอาระเบียมีการเติบโตของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 8.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 โดยมีมูลค่าประมาณ 92.6 พันล้านริยาลซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ ราชอาณาจักรยังสร้างสถิติใหม่ในด้านรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 41.6 พันล้านริยาลซาอุดีอาระเบีย การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวนี้เน้นย้ำถึงความสำเร็จที่สำคัญของซาอุดีอาระเบียในด้านการท่องเที่ยว โดยซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศ G20 ในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เข้ามาและอัตราการเติบโตของรายรับจากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 73% และรายรับจากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 207%

“ภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ กลุ่มดุสิตธานีจะร่วมมือกับกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งซาอุดิอาระเบีย เพื่อมองหาโอกาสในการพัฒนาโรงแรมชั้นนำ โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านงานบริการและแบรนด์อันหลากหลายของกลุ่มดุสิตธานี ซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานมากว่า 75 ปี ตั้งแต่โรงแรมไลฟ์สไตล์ไปจนถึงวิลล่าให้เช่าสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ขณะที่กองทุนฯ ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งสร้างความหลากหลายให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศ ด้วยการสนับสนุนโครงการที่ขับเคลื่อนสังคม เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก สอดคล้องกับกลยุทธ์การท่องเที่ยวแห่งชาติและกรอบวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 ทำให้เรามั่นใจว่า ทั้งสององค์กรจะมีจุดร่วมในการมอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครให้กับผู้เข้าพัก รวมถึงการสร้างมูลค่าสำหรับเจ้าของโรงแรม นักลงทุน และชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานีกล่าว

ปัจจุบันกลุ่มดุสิตมีโรงแรมกว่า 301 แห่งใน 18 ประเทศทั่วโลก รวมถึงโรงแรม 8 แห่งในตะวันออกกลาง พอร์ตโฟลิโอของกลุ่มดุสิตธานีประกอบด้วยแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากมาย ได้แก่ ดุสิตธานี (โรงแรมระดับลักซ์ชูรี) ดุสิตดีทู (โรงแรมไลฟ์สไตล์/ระดับกลาง) ดุสิตปริ๊นเซส (โรงแรมระดับกลาง) ดุสิต สวีท (โรงแรมระดับลักซ์ชูรี/เพื่อการเข้าพักระยะยาว) และอาศัย (โรงแรมไลฟ์สไตล์) รวมถึง 2 แบรนด์ใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัว ได้แก่ เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์ (การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมระดับลักซ์ชูรี) และ ดุสิตธานี คอลเลคชั่น (โรงแรมระดับลักซ์ชูรีที่เน้นประสบการณ์แตกต่างไม่เหมือนใคร) เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับบริษัทฯ ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มดุสิตธานี ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมงานบริการผ่านสายงานการศึกษาต่างๆ ได้แก่ Dusit Hospitality Education ซึ่งประกอบด้วย วิทยาลัยดุสิตธานี โรงเรียนสอนทำอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต และ เดอะฟู้ดสคูล โรงเรียนสอนทำอาหารและพื้นที่เรียนรู้ก้าวหน้าแบบครบวงจร ซึ่งจะฝึกอบรมบุคลากรชั้นนำในอุตสาหกรรมบริการ นอกจากนี้ ความเชี่ยวชาญของกลุ่มดุสิตธานียังครอบคลุมทั้งกลุ่มกับ Dusit Foods (ธุรกิจอาหาร), Dusit Estate (ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์) และ Hospitality-Related Services (อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานบริการ)